Showing 12 results

Archival description
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
Print preview View:

9 results with digital objects Show results with digital objects

พิธีไหว้สักการะพระภูมิเจ้าที่

2 เมษายน ของทุกปี คือวันครบรอบวันเปิดบริการมิวเซียม ซึ่งวันที่ 2 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2560 นี้ครบรอบ 9 ปี ทางเจ้าหน้าที่ สพร. จึงจัดเตรียมของไหว้เพื่อสักการะพระภูมิเจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่หน่วยงานและคนทำงานทุกคน

ไหว้สักการะพระภูมิเจ้าที่ : จัดเตรียมของไหว้

ของไหว้ที่เป็นผลไม้ ประกอบด้วย กล้วยหอม ส้มเขียวหวาน สาลี่ แอปเปิ้ล องุ่น และมะพร้าว โดยจัดเป็นชุดๆ จำนวน 5 ชุด โดยผลไม้แต่ละอย่างก็สื่อถึงความหมายที่เป็นมงคล คือ แอปเปิ้ล เชื่อว่าจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ / องุ่น เชื่อว่าจะทำให้หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า / กล้วย เชื่อว่าจะทำให้มีบริวารที่ดี มีบุตรสืบสกุล / สาลี่ เชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภและพบเจอแต่เรื่องดีๆ / ส้ม เชื่อว่าจะทำให้โชคดี ร่ำรวย

ไหว้สักการะพระภูมิเจ้าที่ : ของไหว้พร้อมเรียบร้อย

ของไหว้ที่เป็นขนม ประกอบไปด้วย ทองหยิบ ทองหยอด ขนมเม็ดขนุน ขนมต้ม ขนมถ้วยฟู จัดเป็นชุดๆ จำนวน 5 ชุด ซึ่งขนมแต่ละประเภทก็สื่อถึงความหมายที่เป็นมงคล ขนมจำพวกชื่อที่ขึ้นด้วยคำว่าทอง หมายถึง ความรำรวยเงินทอง ขนมเม็ดขนุน หมายถึง การมีคนสนับสนุน ช่วยเหลือเกี้อกูล ขนมถ้วยฟู หมายถึง เจริญเฟื่องฟูในหน้าที่การงาน การค้าขายและทำธุรกิจต่างๆ

ไหว้สักการะพระภูมิเจ้าที่ : แม่บ้านไหว้พระภูมิ

แม่บ้าน ทั้งส่วนของอาคารสำนักงาน ตึกหน้า อาคารอเนกประสงค์ ร่วมไหว้สักการะพระภูมิเจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง และขอพรให้การทำงานมีความราบรื่น

ทำบุญเลี้ยงเพลพระสงฆ์

เนื่องด้วย วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครบรอบการเปิดมิวเซียมสยาม และในวันที่ 2 เมษายน 2560 นี้มิวเซียมสยามมีอายุครบ 9 ปี ทางหน่วยงานจึงจัดพิธีทางศาสนาขึ้น เป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีการนิมนต์พระจากวัดโพธิ์มาเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงเพล พร้อมกับถวายเครื่องสังฆทาน

ทำบุญครบรอบ 10 ปี มิวเซียมสยาม

2 เมษายน ของทุกปี คือวันครบรอบวันเปิดบริการมิวเซียม ซึ่งวันที่ 2 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2561 นี้ครบรอบ 10 ปี ทางเจ้าหน้าที่ สพร. จึงจัดเตรียมของไหว้เพื่อสักการะพระภูมิเจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่หน่วยงานและคนทำงานทุกคน

โต๊ะหมู่บูชา

เริ่มมีมาแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่และม้าหมู่ขนาดน้อยที่ตั้งประจำวิหารทิศ แต่ยังไม่มีโต๊ะตัวล่างที่เป็นฐานรองรับม้าหมู่ ซึ่งเป็นการจัดแปลงโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนมาเป็นอย่างไทย และต่อมามีผู้นิยมจัดโต๊ะเครื่องบูชาม้าหมู่เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีโต๊ะประกอบเป็นที่ตั้งเครื่องบูชาในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และของเจ้านายผู้ใหญ่ในสมัยนั้น

ในช่วงระยะเวลาที่ถือว่าได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชามากที่สุดยุคหนึ่งก็คือ ในการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าภาษี นายอากร พ่อค้า จัดโต๊ะเครื่องบูชาเข้าไปตั้งเป็นเครื่องประดับ จำนวน 100 โต๊ะ ซึ่งเป็นปฐมเหตุที่ให้มีความนิยมในการประกวดโต๊ะเครื่องบูชา
การจัดโต๊ะหมู่บูชาถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการจัดโต๊ะหมู่บูชา 5 เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมจัดกันมาก

เครื่องสังฆทาน

องค์ประกอบของสังฆทานควรมีอะไรบ้าง?
ควรเป็นสิ่งของที่พระสงฆ์สามารถนำไปใช้งานได้จริง ได้แก่
1.ยาสระผม คนมักคิดว่าพระไม่มีผมไม่จำเป็นต้องใช้ยาสระผม แต่จริง ๆ แล้วจำเป็นเพราะส่วนหนึ่งอาจมีคราบไคลและไขมันที่เกาะสกปรกตามหนังศีรษะอยู่บ้าง
2.มีดโกน
3.อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น จาน กะทะ หม้อ ช้อน แก้วน้ำ ที่มีคุณภาพ พระสามารถใช้เป็นของส่วนตัวและเอื้อเฟื้อสำหรับญาติโยมที่มาทำบุญได้ด้วย
4.อุปกรณ์ช่าง ค้อน ตะปู ไขควง สว่าน ที่พระมีโอกาสได้ใช้ในการซ่อมแซมต่าง ๆ ในวัดและกุฏิ
5.อุปกรณ์ทำความสะอาด ไม้กวาด ไม้ถูพื้น ไม้กวาดแข็ง ที่โกยขยะ เป็นอุปกรณ์จำเป็น
6.ข้าวสาร อาหารแห้ง
7.เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ
8.หนังสือธรรมะ หรือหนังสือแนวทางการดูแลสุขภาพ
9.ผ้าสบง จีวร ผ้า
10.ยาสมุนไพร ยารักษาโรค

เจริญพระพุทธมนต์

บทเจริญพระพุทธมนต์
การเจริญพระพุทธมนต์ นิยมใช้ในงานมงคล ก่อนแต่จะเจริญพระพุทธมนต์นั้น
ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านศาสนพิธี จะนำกล่าวคำอาราธนาพระปริตร,บทเจริญพระพุทธมนต์ ดังนี้

คำอาราธนาพระปริตร
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสัทธิยา
สัพพะ ทุกขะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะ ภะยะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะ โรคะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

การเจริญพระพุทธมนต์ต้องประกอบด้วยบทสวดอะไรบ้าง?
ประกอบด้วยบทสวด ดังนี้
ชุมนุมเทวดา
นอบน้อมพุทธคุณ
ไตรสรณคมน์
นะมะการะสิทธิคาถา
นะโมการะอัฏฐะกะคาถา
บทขัดตำนาน
บทขัดมังคะละสูตร
มังคะละสูตร
บทขัดระตะนะสูตร
ระตะนะสูตร
บทขัดกะระณียะเมตตะสูตร
กะระณียะเมตตะสูตร
บทขัดขันธะปะริตตะคาถา
ขันธะปะริตตะคาถา
พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
บทขัดโมระปริตร
โมระปริตร
บทขัดวัฏฏะกะปริตร
วัฏฏะกะปริตร
บทขัดอังคุลิมาละปริตร
อังคุลิมาละปริตร
บทขัดโพชฌังคะปริตร
โพชฌังคะปริตร
บทขัดอะภะยะปริตร
อะภะยะปริตร
บทขัดอาฏานาฏิยะปริตร
อาฏานาฏิยะปริตร
ถวายพรพระ

ถวายภัตตาหารเพล

อานิสงส์การถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรม ได้แก่

  1. เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย อายุ คือ มีอายุขัยยืนยาวปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
  2. เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย วรรณะ คือ มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส เป็นที่ดึงดูดตา ดึงดูดใจ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้พบเห็น ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งโอกาสและโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
  3. เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย สุขะ คือ มีความสุขทั้งกายและใจ มีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง เบิกบานอยู่เป็นนิจ
  4. เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย พละ คือ มีเรี่ยวแรงมหาศาล เป็นที่เคารพยำเกรงของมหาชนทั้งหลาย
  5. เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วย ปฏิภาณ คือ มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด หลักแหลม รอบรู้ในสรรพวิชาทั้งปวง
  6. เมื่อสละความตระหนี่ออกจากใจและทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ย่อมเป็นเหตุให้ทรัพย์สมบัติบังเกิดขึ้นโดยง่าย
  7. เป็นที่เคารพรักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
  8. เดินทางไป ณ สถานที่แห่งใดย่อมได้รับการต้อนรับอย่างดี
  9. เป็นผู้มีกำลังใจในการสร้างบารมีอย่างไม่สิ้นสุด

ถวายสังฆทาน

อานิสงส์การถวายสังฆทาน
สังฆทานคือทานที่มุ่งเจาะจงไปในหมู่สงฆ์โดยไม่เลือกถวายจำเพาะรูปใดรูปหนึ่ง ถวายให้เป็นสิทธิ์กลางแด่คณะสงฆ์ เพื่อคณะสงฆ์จะจัดสรรแบ่งปันต่อไป การถวายสังฆทานแม้ถวายพระภิกษุเพียงรูปเดียว แต่ถ้าท่านมารับถวายในนามตัวแทนสงฆ์ก็จัดว่าเป็นสังฆทานเช่นกัน

สังฆทาน...เป็นทานที่ขยายใจให้กว้างไปในความเป็นหมู่คณะ คือ เพื่อให้เป็นประโยชน์แด่สงฆ์โดยส่วนรวม ไม่เหมือนปาฏิบุคลิกทาน ซึ่งเป็นทานที่เลือกถวายเจาะจงแด่พระที่ค้นุ เคยหรือที่ตนศรัทธาเท่านั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่ามีผลมากกว่าปาฏิบุคลิกทานดังนี้

“เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าสังฆทานด้วยปริยายอะไร ๆ เลย สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์นั่นแลเป็นประมุขของผู้บูชา และเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า”

การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่คนไทยเชื่อกันว่าเป็นการทำทานที่ได้บุญมาก เพราะสังฆทานเป็นการถวายทานที่ไม่ระบุเฉพาะว่าเป็นพระสงฆ์รูปใด ผู้ที่ประสงค์จะทำทานจะเตรียมสิ่งของที่จะถวายทาน เมื่อพร้อมแล้วนำไปยังวัด บอกท่านเจ้าอาวาสว่า ต้องการถวายสังฆทาน ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์รูปใดมารับสังฆทานก็ได้ หรือจะเตรียมของแล้วนำของไปยังวัด ไปพบพระสงฆ์รูปใดก็แจ้งความจำนงขอถวายสังฆทาน ท่านก็จะทำพิธีรับสังฆทาน หากกำหนดว่าจะถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่ง การทานนั้นก็ไม่เป็น สังฆทาน
ถ้าต้องการอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้แก่ผู้ใดผู้ถวายทานก็มักจะบอกหรือเขียนชื่อนามสกุล ให้แก่พระภิกษุ เพื่อท่านจะได้ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลไปยังผู้ที่บอกชื่อนั้น ๆ

พระภูมิ

ประวัติของศาลพระภูมิมีตำนานเล่าขาลมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ในสมัยของพระเจ้าทศราชครองเมืองพาลี ที่ทรงมีพระมเหสีนามว่า นางสันทาทุกข์ และทรงได้คลอดโอรส 9 พระองค์ นามว่า พระชัยมงคล พระนครราช พระเทเพน พระชัยสพ พระคนธรรพ์ พระธรรมโหรา พระวัยทัต พระธรรมิราช และพระทาษธารา ซึ่งทั้งหมดมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับพระภูมิเหมือนกัน หหลังจากเติบใหญ่พระเจ้าทศราชทรงให้ออกครองภูมิสถานประจำในสถานที่ต่างๆกัน เมื่อครั้งกาลเวลาผ่านไปจนสิ้นอายุขัยพระโอรสทั้ง 9 องค์ก็ยังทรงครองภูมิตัวเองอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น พระองค์ทรงขอพื้นที่ของพระภูมิจากโอรสทั้ง 9 แต่ด้วยเหตุที่ทำให้โอรสทั้ง 9 ต้องออกจากภูมิตัวเองจึงเป็นที่ลำบากจนต้องขอกลับมาอยู่ที่ภูมิของตนจากพระพุทธเจ้าอีกครั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตพร้อมได้พรว่า ผู้ที่จะกระทำการใดๆที่เกี่ยวกับพื้นดินหรือสถานที่ต่างๆ ควรสักการบูชาพระภูมิเสียก่อน จึงจะได้รับความสุข และลาภผลในตน ตั้งแต่นั้นมาก็ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหากมีการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับพื้นดินหรือสถานที่จึงมักมีการสักการะพระภูมิเสมอ

ด้วยเหตุนี้ พระภูมิจึงเป็นความเชื่อของคนไทย และชาวพุทธทั่วไปถึงพิธีมงคลที่ทำต่อพื้นดินหรือสถานที่ต่างๆต้องมีการสักการะพระภูมิเสมอ โดยมีหลักความเชื่อต่อมาว่าควรจัดทำบ้านจำลอง วังจำลองหรือที่เราเรียกว่า ศาลพระภูมิ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระภูมิไว้สำหรับเป็นสถานสักการะหากมีพิธีมงคลต่างๆ โดยมีความเชื่อว่า พื้นดินหรือสถานที่ต่างๆ จะมีพระภูมิเฝ้าประจำในแต่ละสถานเสมอ ซึ่งมักมองภาพถึงคนที่แต่งชุดโจงกระเบนสีขาว และสวมหมวกเป็นฉัตรปลายแหลมเสมอ ที่คอยปกปักรักษา คุ้มครองภัยอันตรายจากสิ่งอัปมงคลต่างๆไม่ให้เข้าสู่สถานที่แห่งนั้นหรือมาพบพาลสร้างสิ่งอัปมงคลแก่ผู้ถือครองที่นั้นๆ