Showing 3812 results

Archival description
Print preview View:

2724 results with digital objects Show results with digital objects

สืบจากส้วม : ทำไมห้ามสร้างส้วมบนเรือน

ทำไมห้ามสร้างส้วมบนเรือน

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงการใช้ห้องน้ำของเจ้านายไว้ดังนี้
“ตามประเพณีโบราณ “ที่ลงพระบังคน (ห้องน้ำ) เป็นของมีได้แต่พระเจ้าแผ่นดิน หรือมีต่อลงมาได้เพียงเจ้านาย เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า “บังคน” เหมือนกัน แต่คนสามัญชนจะมีที่ลงบังคนไม่ได้” ดังนั้น การสร้างส้วมบนเรือน จึงเป็นการตีตนเสมอเจ้านายนั้นเอง

สืบจากส้วม : ส้วมเจ้ามาจากไหน

ส้วมเจ้ามาจากไหน

เมื่อเรารับแนวคิด “เทวราชา” จากความเชื่อฮินดูที่เชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือ สมมุติเทพ มาใช้กับการปกครองบ้านเมืองของสยาม การปฏิบัติกับพระราชาจึงต้องกระทำด้วยความพิเศษ มีพิธีกรรมและพิธีรีตองมากมายเพื่อให้สมสถานะและพระเกียรติยศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปฏิกูล เพราะถึงแม้จะเป็น อึ ก็เป็น “อึ” ของพระนารายณ์

อึ กับ พระราชา
อึ ในการรับรู้ของคนละกลุ่มย่อมแตกต่างกันไป สำหรับเจ้านายชั้นสูงและพระมหากษัตริย์แล้ว อึ ถือเป็นเรื่องอัปมงคล คติความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นในธรรมเนียมการปฏิบัติประการหนึ่ง คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องผลัดผ้านุ่งลายสัตว์ป่าหิมพานต์เป็นผ้าชนิดอื่นก่อนเข้าห้องพระบังคน (ห้องน้ำ) เพราะถือกันว่าสัตว์ป่าหิมพานต์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ตามคติเทวราชา หากต้องเข้าใกล้อึ ก็อาจทำให้เกิดความมัวหมอง

สืบจากส้วม : ส้วมพระ มาจากไหน

ส้วมพระ มาจากไหน
ในสมัยสุโขทัย มีการเชื่อมสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนากับลังกาอย่างใกล้ชิด ดังนั้น นอกจากหลักคำสอนแล้ว สุโขทัยยังรับ “กฎ กติกา มารยาท” และเทคโนโลยีในการขับถ่ายมาจากลังกาด้วย หนึ่งในนั้นก็ คือ “ถานพระ”

“ถานพระ” มีรูและร่อง ที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ช่วยแยกอุจจาระไม่ให้ปนกับปัสสาวะ เมื่ออุจจาระแห้งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ก็ลดลงไปอย่างมาก แต่เนื่องจากพื้นดินของประเทศไทยมีความชุ่มน้ำมาก ทำให้อุจจาระที่แม้ไม่เปียกด้วยปัสสาวะ ก็ต้องมาเปียกด้วยน้ำในหลุมดินอยู่ดี ถานพระชนิดนี้จึงไม่เป็นที่นิยมนักในดินแดนประเทศไทย

“เว็จ”
พระสงฆ์ มีคำเรียกสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะ คือ “เว็จ” มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตในคำว่า “วจฺจกุฏิ” ซึ่งหมายถึงสถานที่ขับถ่ายของสงฆ์ในวัด ต่อมาคำว่า “วจฺจ” แผลงเป็น “เว็จ” และใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น หมายถึงส้วมโดยทั่วไป

สืบจากส้วม : เปิดตัวเทศบาลเพื่อนยาก

เทศบาลเอ๋งกับเทศบาลอู๊ด
สำหรับคน “ไปทุ่ง” หรือคนที่คิดจะอึในบางมุมของเมือง ก่อนจะนั่งลงหย่อนต้องกวาดตาให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีเจ้าเพื่อนยากสี่ขาสองชนิด คือ น้องหมูและน้องหมา ที่อาจเข้ามารบกวนความสงบ เพราะ อึ คือ อาหารโปรดของมัน

เทศบาลใต้บาดาล
สำหรับคน “ไปท่า” และคนที่อยู่ในเรือนแพ น่าจะหาความสงบได้ง่ายหน่อยตรงที่เทศบาลอย่างปลาแขยงจะซุ่มคอย “เหยื่อ” อยู่ที่ผิวน้ำจนเมื่อ “อาหาร” ตกลงมานั่นแหละ มันจึงเริ่มปฏิบัติ “ตอด” แบบไม่ให้เหลือซากเหลือกลิ่นเลยทีเดียว

สืบจากส้วม : ไปทุ่ง ไปท่า

ไปทุ่ง ไปท่า

สังคมไทยในยุคดั้งเดิมที่ยังมีประชากรน้อย และอยู่อาศัยกันแบบพึ่งพาธรรมชาติ เรื่องอึ ก็เป็นเรื่อง “ขี้ ๆ” ใครมีบ้านเรือนอยู่ริมทุ่งนา ก็ไปอึในทุ่ง ใครมีบ้านอยู่ริมน้ำ ก็ไปอึที่ท่าน้ำ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไปทุ่ง” “ไปท่า” รวมถึงคำว่า “ไปป่า” ก็ย่อมเป็นคำพูดติดปากของคนที่มีบ้านอยู่ชายป่านั่นเอง
เมื่ออีเสร็จแล้ว อึนั้น ก็ไม่ได้ไปไหน แต่ถูกกำจัดไปโดยธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา

สืบจากส้วม : โลกของส้วม

ส้วมไม่ใช่เรื่อง “ขี้ ๆ” มาตั้งแต่มนุษย์เกิดมาเมื่อล้านปีที่แล้ว เพราะมนุษย์ทั้งโลกต่างคิดใคร่ครวญหาส้วมที่ “ดีที่สุด” มากำจัดอึ ก่อนที่อึจะย้อนมากำจัดเรา

คนไทยก็เหมือนกัน เรามีส้วมหลายแบบ ตั้งแต่การอึในทุ่งนาแบบใกล้ชิดธรรมชาติ การอึแบบลดกลิ่นโดยส้วมไฮเทคจากเมืองแขก หรือการอึแบบ “เทพ” ของชนชั้นปกครอง รวมไปถึงการอึใส่ถังสำหรับคนเมืองรุ่นแรกที่ยืมความคิดมาจากคนจีน ฯลฯ

ส้วมมากมายขนาดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความหลากหลายของกลุ่มคนให้เราหยิบยืมความคิดมาปรับใช้และสูดดม

นิทรรศการ ชุด สืบจากส้วม (พ.ศ. 2553)

สืบจากส้วม ปฎิบัติการ "ขี้" คลายคดีเด็ดเว็จแตก ย้อนอดีตสยามประเทศ

เรื่องส้วมๆ ใครว่าไม่สำคัญ สืบให้ดีจะรู้ว่าส้วมนี้มหัศจรรย์แค่ไหน คิดดูเล่นๆ ว่าโลกนี้จะพิลึกแค่ไหนถ้าไม่มีส้วม แต่เริ่มเดิมทีส้วมเริ่มต้นจากการแวะประกอบกิจข้างทาง ต่อมาก็พัฒนาออกแบบเรื่องส้วมนี้ให้สะดวกสบายมากขึ้น จนถึงกลายเป็นเครื่องบอกฐานะความสวยงามชนิดหนึ่ง แม้จะอยู่ในส่วนลับตา เช่น ห้องน้ำ

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. ฝ่ายมิวเซียมสยาม. แผนกพัฒนาและบริหารงานนิทรรศการ

จับไมค์ใส่ขนนก : คุณค่าของเพลงลูกทุ่งไทย

คุณค่าของเพลงลูกทุ่งไทย

ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเรื่อง ลูกทุ่งกับเพลงไทย ที่ทรงกล่าวถึงความดี ของเพลงลูกทุ่ง ตอนหนึ่งว่า

"พอจะสรุปว่าเพลงลูกทุ่งมีความดีหลายประการ คือ

  1. เป็นหลักฐานของข้อมูลทางประวัติศาสตร์สังคมของประเทศ
  2. เป็นที่รวมของภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญาของชาวบ้าน
  3. เป็นเพลงที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย ร้องง่าย จำง่าย
  4. สามารถเข้าถึงสังคมทุกชั้น กระจายได้กว้างไกลถึงชนบททุกแห่ง
  5. มีความเป็นไทยทั้งในเรื่องของภาษา ทำนอง และการขับร้อง"

เพลงลูกทุ่งไทยมีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวทั้งในด้านการออกเสียง และการใช้ภาษา นับเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย จึงควรช่วยกันอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบไป

จับไมค์ใส่ขนนก : การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่ง ๆ มักมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ นายทุน หรือเจ้าของบริษัทแผ่นเสียง เทปเพลง ที่ออกเงินทุน ให้กับวงดนตรี หรือนักร้องเป็นผู้ตั้งวงดนตรีเอง ต่อไปคือ นักร้อง ผู้จัดการวงดนตรี ที่จะคอยนัดหมายการแสดงให้กับวง นักดนตรี นักร้องคนอื่นๆ ในวง ตลก เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค การทำฉาก แสง สี เสียง เจ้าหน้าที่ขนย้าย ขนเครื่องดนตรี ขนย้ายฉาก หางเครื่อง แม่ครัว คนขับรถ เด็กผู้ช่วยประจำวง ซึ่งวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ๆ อาจมีคนในวงมากกว่า 200 คน และมักเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่หลายคัน การตั้งวงดนตรีจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง และจำเป็นต้องออกเดินสายตลอดปี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายให้แก่สมาชิกในวง ตัวอย่างเช่น วงดนตรีของวงพิณแคนแดนอีสาน ซึ่งมี ศิริพร อำไพพงษ์ เป็นนักร้องนำ และเป็นหัวหน้าวง จำนวนคนในวงมีมากกว่า 200 คน แบ่งเป็น นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง หมอลำ ตลก และเด็กในวง ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นลูกหลานเครือญาติของศิริพร อำไพพงษ์ วงพิณแคนแดนอีสานจะเดินสายไปเปิดการแสดง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในปีถัดไป ซึ่งในช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาวต่อถึงฤดูร้อน และหยุดพักในช่วงฤดูฝน วงพิณแคนแดนอีสานรับงานในลักษณะของการจ้างวงดนตรีไปแสดง หรือทางวงเปิดการแสดงเอง เรียกว่า "งานล้อมผ้า" ระหว่างการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ รูปแบบการแสดงมีทั้งเป็นเพลงลูกทุ่ง สตริง ตลกอีสาน เพลงนานาชาติ ลิเกอีสาน เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชมผู้ฟัง มีการคัดเลือกนักร้องคนอื่นๆ ในวงขึ้นมา เพื่อสร้างความหลากหลาย และแนวการร้อง ที่แตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดขาย และแบ่งเบาภาระของนักร้องนำ

จับไมค์ใส่ขนนก : ผู้ชม

ผู้ชม

การแสดงความนิยมชมชอบของผู้ชม ที่มีต่อนักร้องที่ตนชื่นชอบ คือ การช่วยสนับสนุน ซื้อผลงานของนักร้องผู้นั้น หรือการซื้อบัตรชมการแสดง ซึ่งเวลาชมการแสดงของนักร้อง ที่ตนนิยม นอกจากจะปรบมือแสดงความชื่นชมแล้ว ยังมีการมอบสิ่งของ เช่น พวงมาลัยคล้องคอ ของขวัญ ให้นักร้องในเวลาที่ร้องเพลงจบ หรือในช่วงที่ดนตรีบรรเลงคั่นเพลง พวงมาลัยมีทั้งแบบที่ซื้อจากหน้างาน ซึ่งมักเป็นการจำหน่ายของวงดนตรีวงนั้น ๆ เอง หรือเจ้าภาพนำมาจำหน่าย และแบบที่ผู้ชมจัดเตรียมมาเอง รูปแบบของพวงมาลัยอาจแบ่งได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1) พวงมาลัยที่ทำจากดอกไม้สด เช่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ และอื่นๆ
2) พวงมาลัยที่ทำจากริบบิ้นคล้องกันเป็นลูกโซ่
3) พวงมาลัยที่ทำจากธนบัตร และ
4) พวงมาลัยที่มีลักษณะผสมผสานกัน เช่น พวงมาลัยดอกดาวเรืองติดธนบัตร

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 3

หางเครื่อง 3

เมื่อ พ.ศ. 2518 ศกุนตลา พรหมสว่าง คู่ชีวิตของ เพลิน พรหมแดน ติดตาติดใจเครื่องทรงของโฟลี แบร์แฌร์ (Folies Bergeres) และ มูแลงรูจ (Moulin Rouge) เมื่อคราวไป "ดูงาน" ที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาดัดแปลงใช้กับชุดหางเครื่องเพลงลูกทุ่งเป็นครั้งแรก จนเกิดเป็น "เทรนด์" ที่ปลุกกระแสแฟชั่นไปทั่ววงการ จากเพลงลูกทุ่งปกติธรรมดาจึงกลายเป็น "ศิลปะการแสดงระดับโลก หางเครื่องนับร้อย นุ่งน้อย ห่มนิด ฟิตเปรี๊ยะ" โดยจัดแสดงครั้งแรกในช่วงท้ายคอนเสิร์ตของ เพลิน พรมแดน

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 2

หางเครื่อง 2

จินตนา ดำรงค์เลิศ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง หางเครื่อง โดยนำมาจากหนังสือ "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2" ตอนหนึ่งมีใจความว่า ในตอนแรกผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่อง มีทั้งหญิงและชาย บางครั้งเป็นตัวตลกประจำวง ต่อมา จึงพัฒนาขึ้น โดยใช้หญิงสาวสวย ๆ ออกมาเขย่าหางเครื่อง แต่ยังไม่ออกลีลาเต้น การแต่งกายสุดแล้วแต่เจ้าตัวจะใส่ ต่อมาช่วง พ.ศ. 2509 - 2510 ผู้ที่ออกมาเขย่าหางเครื่องประกอบจังหวะการร้องเพลงลูกทุ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4 - 7 คน การแต่งกายเหมือนกันโดยใช้ชุดเดียวตลอดการแสดง วงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ และวงสมานมิตร เกิดกำแพง มีหางเครื่องเป็นที่กล่าวขวัญ ต่อมาวงดนตรีของศรีนวล ภรรยาของสุรพล สมบัติเจริญ ได้จัดผู้เต้นระบำประกอบเพลงโดยใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน มีลีลาการเต้นแบบระบำฮาวาย หลังจากนั้น วงดนตรีลูกทุ่งก็ได้มีการแข่งขันด้านหางเครื่อง การแสดงของวงดนตรีใหญ่ๆ จะมีหางเครื่องเต้นประกอบทุกเพลง และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทุกเพลง จำนวนผู้เต้นประมาณ 15 - 16 คน แต่ถ้าเป็นเพลงเด่นจะมีถึง 40 คน

จับไมค์ใส่ขนนก : หางเครื่อง 1

หางเครื่อง 1

วงดนตรีลูกทุ่งในปัจจุบันถือว่าหางเครื่องมีความสำคัญที่จะขาดไม่ได้ และมีการแข่งขันสูงทางด้านความสวยงามวิจิตรตระการตา ในระยะแรกเพลงลูกทุ่งยังไม่มีหางเครื่องเหมือนดังเช่นปัจจุบัน หางเครื่องในอดีตหมายถึงเครื่องดนตรีพวกฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก แทมบูรีน ที่ใช้เคาะให้จังหวะอยู่ด้านหลังของวงดนตรี เนื่องจากการแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรก ใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมง มีรีวิวประกอบเพลงไม่มากนัก จึงให้คนในวงที่ว่างงานอยู่ออกมาช่วยตีเครื่องเคาะให้จังหวะต่างๆ ประกอบการร้อง ของนักร้องหน้าเวที และช่วยให้จังหวะเพลงเด่นชัดขึ้น เรียกกันว่า "เขย่าเครื่องเสียง" หรือ "เขย่าหางเครื่อง"

จับไมค์ใส่ขนนก : เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกาย

ในยุคแรก ๆ นักร้องลูกทุ่งยังคงแต่งกายในรูปแบบการแต่งกายของชาวชนบท นักร้องชายใส่เสื้อม่อฮ่อม นักร้องหญิงนุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็พัฒนาให้มีความแปลกใหม่ตามไปด้วย นักร้องชายเริ่มมีการใส่สูท ส่วนชุดของนักร้องหญิงมีสีสันสดใส รูปแบบหลากหลาย และมีเครื่องประดับตกแต่งเพื่อให้มีความโดดเด่นที่สุดบนเวที ความสวยงามหรูหราของเครื่องแต่งกายนักร้อง มีการปักเลื่อม ติดระบาย รวมทั้งหางเครื่องที่มีการพัฒนาเครื่องแต่งกาย จากเดิมเพียงแค่คนในวงที่ว่างงานที่ช่วยเขย่าเครื่องดนตรี มาเป็นการเต้นประกอบเพลงด้วย รูปแบบเครื่องแต่งกายที่มีสีสัน มีการใช้ขนนก เลื่อม เพชรประดับตกแต่งให้ดูสวยงาม หรูหรา เห็นแล้วสะดุดตา ปัจจุบันมีการพัฒนาและประยุกต์ชุดหางเครื่องให้มีความทันสมัย เช่น การดัดแปลงจากชุดไทยให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเครื่องแต่งกายของนักร้องชายที่เห็นได้ชัดเจน คือ จักรพรรณ์ อาบครบุรี ซึ่งเจ้าของค่ายเพลงมีการลงทุนด้านเครื่องแต่งกายสูงมาก นับเป็นการปฏิวัติการแต่งกายของนักร้องที่จะต้องตกแต่งปักเลื่อมติดเพชร ให้มีความสวยงามสะดุดตาผู้ชม

Results 1341 to 1360 of 3812