ภาพถ่ายก่อนบูรณะกระทรวงพาณิชย์
กระทรวงท่าเตียน” คืออีกชื่อหนึ่งที่ผู้คนมักจะใช้เรียกขานกระทรวงพาณิชย์ เพราะอยู่บริเวณท่าเตียน ขุนวิจิตรมาตราได้เล่าว่า ในสมัยแรกเริ่มของการก่อสร้างนั้น ได้สร้างอาคารบนพื้นที่ว่างอันเป็นที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังกรมหลวง บดินทรไพศาลโสภณ และวังกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ มีถนน ๓ สายโดยรอบ ได้แก่ ถนนสนามไชย ถนนมหาราช ถนนเขตต์ หรือซอยเศรษฐการในปัจจุบัน ใกล้กับที่ทำการศาลาแยกธาตุในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัง กรมหมื่นภูมินทรภักดี ตัวอาคารนั้น ก่อสร้างในปีพ.ศ. ๒๔๖๔และในปี พ.ศ. ๒๔๖๕พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดกระทรวงฯ
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม” โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเสนาบดี
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงเกษตราธิการกับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม มีชื่อว่า “กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ” และเปลี่ยนชื่อศาลาแยกธาตุเป็น “กรมวิทยาศาสตร์”
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ เปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงพาณิชย์” มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพาณิชย์และกิจการทางเศรษฐกิจที่เนื่องด้วยการพาณิชย์รวมทั้งการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การควบคุมและส่งเสริมกิจการค้าและประกันภัยจวบจนปัจจุบัน
กระทรวงพาณิชย์สร้างเป็นอาคารทรงฝรั่ง เนื่องจากรูปแบบงานมีลักษณะสมัยใหม่มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศอยู่มาก ซึ่งมีความสำคัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นฝีมือการออกแบบของศาสตราจารย์มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานในสยามตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมทำงานกับสถาปนิกคนอื่นๆ ในการออกแบบสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ มากมาย เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งดุสิต วัดเบญจมบพิตร สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาสตราจารย์มาริโอ ตามาญโญ เป็นผู้ออกแบบบ้านนรสิงห์ บ้านพิษณุโลก ราชตฤณมัยสมาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง
สำหรับงานปูนปั้นหรืองานหล่ออันงดงามในตัวกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นฝีมือการออกแบบของ วิตโตริโอ โนวี นายช่างเอกแห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ผู้รังสรรค์ สลักเสลาความงามวิจิตร ตามอาคารต่างๆ แทบทุกโครงการที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม